กิจกรรมที่ 2 การถ่ายทอดการใช้ประโยชน์จากข้าว
30/05/2023กิจกรรมที่ 4 การถ่ายทอดการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบท้องถิ่น
11/06/2023ผู้รับผิดชอบโครงการ
กลุ่มบริการและเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
บัว “ราชินีแห่งไม้น้ำ”
บัว ได้รับการขนานนามให้เป็น “ราชินีแห่งไม้น้ำ” เป็นพืชน้ำล้มลุกที่มีทั้งลักษณะลำต้นที่เป็นหัว เหง้า หรือไหล ใบเป็นใบเดี่ยวเจริญขึ้นจากลำต้นโดยมีก้านใบส่งขึ้นมาเจริญที่ใต้น้ำ ผิวน้ำ หรือเหนือน้ำ รูปร่างของใบส่วนใหญ่กลมมีหลายแบบ บางชนิดมีก้านใบบัว โดยบัวเป็นหนึ่งในบรรดาดอกไม้ที่ผู้คนนิยมกันทั่วโลก ทั้งในการปลูกเป็นไม้ดอก และไม้ประดับ
ดอกบัวมีอยู่ทั้งหมด 3 สกุล ได้แก่
สกุลปทุมชาติ (Nelumbo) – Lotus หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ บัวหลวง มีทั้งดอกซ้อน ดอกลา มีกลิ่นหอม ในทวีปเอเชียและออสเตรเลียส่วนมากมักมีสีขาวและสีชมพู ส่วนพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือมีสีเหลือง (ปทุม / บัวแหลมแดง / ปุณฑริก (บุณฑริกา) / บัวแหลมขาว / สัตตบงกช / บัวฉัตรแดง / สัตตบุษย์ / บัวฉัตรขาว)
สกุลอุบลชาติ (Nymphaea) – Waterlily บัวไทยในสกุลนี้ ได้แก่ บัวผัน บัวเผื่อน บัวขาบ บัวจงกลนี บัวสาย หรือบัวก้านอ่อน เพราะไม่มีหนาม จำแนกตามถิ่นกำเนิดได้ 2 ประเภท ดังนี้
- สกุลอุบลชาติเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว (บัวฝรั่ง) พบในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ในเขตอากาศอบอุ่นไปจนถึงหนาวเย็น ดอกลอยแตะผิวน้ำหรือชูพ้นน้ำเล็กน้อย บานตอนรุ่งเช้า เริ่มหุบตั้งแต่เที่ยงวันถึงช่วงบ่ายต้นๆ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ
- สกุลอุบลชาติเขตร้อน พบในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ดอกชูสูงเหนือผิวน้ำ อุบลชาติเขตร้อนยังจำแนกตามช่วงเวลาที่ดอกเริ่มบาน ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
2.1 อุบลชาติเขตร้อนบานกลางวัน ได้แก่ บัวเผื่อน / บัวผัน / บัวขาบ / บัวจงกลนี / บัวนางกวัก / บัวยักษ์ออสเตรเลีย / บัวสุทธาสิโนบล
2.2. อุบลชาติเขตร้อนบานกลางคืน ได้แก่ กมุท / เศวตอุบล / สัตตบรรณ / ลินจง
สกุลวิกตอเรีย (Victoria) – Royal Waterlily, Victoria คนไทยนิยมเรียกว่า บัวกระด้ง จัดเป็นบัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ขอบใบยกขึ้นคล้ายกระด้ง เป็นมบเลี้ยงเดี่ยขนาดใหญ่ประมาณ 6 ฟุต ลอยบนผิวน้ำ ก้านมีหนามแหลม ดอกบานช่วงกลางคืน หุบตอนเช้า บานนานประมาณ 3 วัน เมื่อเริ่มบานเป็นสีขาว แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูจนถึงม่วงแดง กลิ่นหอมแรงมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ (บัววิกตอเรีย อมาโซนิกา / บัววิกตอเรีย สายพันธุ์อังกฤษ)
|
|
|
การใช้ประโยชน์จากดอกบัว
“ดอกบัว” เป็นดอกไม้ที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน ดังจะเห็นได้จากการใช้ดอกบัวทั้งในงานมงคลและงานอวมงคล ตลอดจนการแปรูปส่วนต่างๆ ของบัวมาเป็นอาหารและใช้เพื่อสรรพคุณทางยา รากบัวสามารถนำไปทำเป็นเครื่องดื่มและยาสมุนไพร ใบบัวก็นำมาใช้ประกอบอาหาร ใยของก้านบัวก็ยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอย่างการทอผ้าใยบัว และไม่เว้นแม้แต่ เม็ดบัว ที่ก็เป็นหนึ่งในอาหารเพื่อสุขภาพ เรียกได้ว่า บัว เป็นดอกไม้ที่มีทั้งความงามและมากไปด้วยประโยชน์ใช้สอยอย่างแท้จริง บัว อีกหนึ่งพืชที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน โดยส่วนต่างๆ ของ “บัว” นั้น สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เป็นทั้งยา และอาหารได้อย่างดี
ดอกบัว ประชาชนนิยมนำไปบูชาพระมากกว่าดอกไม้ชนิดอื่น เพราะดอกบัวสามารถคงความงามไว้ได้นาน กลีบ มีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง บำรุงครรภ์ มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด เมล็ดบัว เป็นแหล่งรวมธาตุอาหารหลายชนิด สามารถนำมากินได้ทั้งสดและแห้ง ยังนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน หรือนำไปบดเป็นแป้งกวนทำไส้ขนมก็ได้ ใยบัว สามารถนำมาทอเป็นผ้า ที่เรียกกันว่า “ผ้าใยบัว”
เกสรบัว มีสรรพคุณทางยาหลายชนิด ปัจจุบันมีการนำเกสรบัวมาทำผลิตภัณฑ์เครื่องบำรุงผิวพรรณ
เม็ดบัว สามารถนำมากินได้ทั้งสดและแห้ง เม็ดบัวมีปริมาณสารอาหารที่สำคัญ คือ โปรตีน ประมาณ 23 % ซึ่งสูงกว่าข้าวถึง 3 เท่า และเป็นแหล่งรวมธาตุ อาหารหลายชนิดด้วยกัน เม็ดบัวนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน เช่น สังขยา เม็ดบัว ขนมหม้อแกงเม็ดบัว เม็ดบัวเชื่อม สาคูเม็ดบัว เป็นต้น
ดีบัว มีสารเนเฟอรีน (neferine) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ สามารถขยายหลอดเลือดและช่วยให้นอนหลับง่าย
ใบบัว นำมาเป็นภาชนะห่ออาหาร หรือทำเป็นข้าวห่อใบบัว ส่วนใบอ่อนสามารถนำมากินเป็นผักสดแกล้มน้ำพริก หรือนำมาหั่นฝอย ชงดื่มแทนน้ำชา ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
ก้านบัว นำมาตากแห้ง สามารถใช้แทนยากันยุงหรือใช้ทำเชื้อเพลิง และสามารถนำไปทำเยื่อกระดาษได้เช่นเดียวกับกระดาษสา
สายบัว สามารถปรุงอาหารแทนผักได้หลายชนิด ทั้งแกงส้มสายบัว แกงสายบัวกับปลาทู ฯลฯ ชาวอินเดีย กินเพื่อแก้อาการท้องร่วง
เหง้าบัว เป็นลำต้นใต้ดินสำหรับสะสมอาหาร ขนาดใหญ่ อ้วน มีคุณค่าทางอาหารมาก นิยมนำมาเชื่อมแห้งกินเป็นของหวาน หรือนำไปต้มกับน้ำตาลกรวด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
รากบัว นิยมนำมาเชื่อมแห้งกินเป็นของหวาน หรือนำไปต้มกับน้ำตาลกรวด แก้ร้อนใน ชาวอินเดีย จะให้เด็กดื่มน้ำรากบัว เพื่อระงับอาการท้องร่วง
ไหลบัว มีใยอยู่มาก เมื่อเด็ดหรือหั่นจะสังเกตเห็นสายใยที่ยืดยาวออกมา หากไม่กำจัดทิ้งไป เวลากินจะกินลำบาก เคล็ดลับการกำจัดเยื่อใยของไหลบัวคือ เมื่อเด็ดหรือหั่นเสร็จแล้วนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ แล้วใช้ตะเกียบมาคนวนในกะละมังให้ทั่ว จะเห็นว่ามีใยของไหลบัวติดออกมา ให้คนไปเรื่อยๆ จนกว่าใบไหลบัวจะไม่ติดขึ้นมา ส่วนสรรพคุณของไหลบัวนั้น ตามตำราสมุนไพรไทย ช่วยแก้อ่อนเพลียและบำรุงหัวใจ มีเส้นใยอาหารมาก จึงช่วยแก้โรคท้องผูกได้
วัตถุประสงค์ / ตัวชี้วัดของวัตถุประสงค์ : เพื่อตอบสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) / กิจกรรมการถ่ายทอดการใช้ประโยชน์จาก “บัว” โดยการศึกษาวิทยาศาสตร์กับดอกบัว การขายพันธุ์บัวโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การนำส่วนต่างๆ ของบัวมาสร้างสรรค์ศิลปะบนผืนผ้า และการแปรรูปดอกบัวเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความอ่อนเยาว์
ผลผลิตของกิจกรรมการถ่ายทอดการใช้ประโยชน์จาก “บัว” ภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากพืชและวัตถุดิบท้องถิ่นที่สำคัญ ในจังหวัดปทุมธานี และตัวชี้วัด
การแปรรูปบัว ด้วยเทคนิค Eco print การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์บนผืนผ้า จากบัวร่วมกับวัสดุธรรมชาติ และการแปรรูปดอกบัวเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เซรั่มจากสารสกัดเกสรบัวหลวง / การสร้างองค์ความรู้พื้นฐานการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดการสร้างรายได้ของกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป และกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่
พืชที่นำมาใช้ประโยชน์ : เกสรบัวหลวง ใบบัว เหง้าบัว และส่วนต่างๆ ของบัว
ลักษณะผลงาน : ผลิตภัณฑ์การสร้างสรรค์บนผืนผ้า (Eco print) จากบัวร่วมกับวัสดุธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์เซรั่มจากสารสกัดเกสรบัวหลวง
การนำผลงานไปใช้ประโยชน์ (แนวทาง) : การใช้ประโยชน์จากพืชท้องถิ่นจากกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป และกลุ่มเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีอย่างคุ้มค่า สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม และผลิตภัณฑ์ความงาม
นวัตกรรมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากดำเนินงานโครงการเสร็จสิ้น : ผลิตภัณฑ์ผ้าคลุมไหล่ (Eco print) จากบัวร่วมกับวัสดุธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์เซรั่มเกสรบัวหลวง
พื้นที่/ชุมชนเป้าหมาย : กลุ่มเครือข่ายศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
การถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากพืชและวัตถุดิบท้องถิ่นที่สำคัญ เรื่อง โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จาก “บัวราชินีไม้น้ำ” ดังนี้
- สาธิตการขายพันธุ์บัวโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเมล็ดบัว
- ผลิตภัณฑ์ “Eco print” กระบวนการพิมพ์สร้างลวดลายจากวัสดุธรรมชาติ
- ผลิตภัณฑ์เซรั่มผสมสารสกัดเกสรบัวหลวง
สาธิตการขายพันธุ์บัวโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเมล็ดบัว
ประเทศไทยนิยมปลูกบัวหลวงเพื่อตัดดอก และเก็บฝักสด บัวหลวงจัดได้ว่าเป็นพืชไม้น้ำเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากสามารถนำทุกส่วนของบัวหลวงมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ไหลและเหง้าใช้ประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน ใบอ่อน ใบแก่และดอกบำรุงโลหิต เกสรใช้ชงเป็นชามีสรรพคุณบำรุงหัวใจ เมล็ดแก้
ร้อนใน
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นวิธีขยายพันธุ์พืชแบบไม่ใช้เพศวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถผลิตพืชได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็วต้นพืชมีความสม่ำเสมอสมบูรณ์แข็งแรงตรงตามพันธุ์และสะอาดปราศจากโรคแมลงศัตรูพืช ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเมล็ดบัวมีการนำมาใช้เพื่อขยายพันธุ์พืชในเชิงการค้าอย่างกว้างขวางและส่งเสริมเป็นอาชีพ
ผลิตภัณฑ์ “Eco print” กระบวนการพิมพ์สร้างลวดลายจากวัสดุธรรมชาติ
ปัจจุบันประเทศไทยนับได้ว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เนื่องจากภายในประเทศมีวัตถุดิบที่หลากหลายและสามารถนำเข้าสู่อุตสาหกรรมได้ ปกติวัสดุสิ่งทออาจจะอยู่ในรูปของเส้นใย เส้นด้าย หรือผืนผ้า การสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้ามีวิธีสร้างสรรค์ได้หลากหลายรูปแบบ นอกจากการปัก การทอ การเขียนลายหรือมัดย้อม การพิมพ์ผ้าจากสีธรรมชาติ Eco print เป็นอีกเทคนิควิธี สร้างเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตามชนิดของเส้นใยก็เป็นตัวกำหนดชนิดของสีที่ใช้ในการพิมพ์ผ้า กระบวนการ อุณหภูมิ และสารช่วยติดที่ใช้ในการพิมพ์
ขั้นตอนการเตรียมผลิตภัณฑ์ “Eco print” กระบวนการพิมพ์สร้างลวดลายจากวัสดุธรรมชาติ
- การเตรียมใบไม้ในการพิมพ์จากบัวและวัสดุธรรมชาติ คัดแยกส่วนต่างๆ ล้างน้ำให้สะอาด และชั่งน้ำหนักอย่างละ 100 กรัม
- นำบัวและวัสดุธรรมชาติใส่ในอ่างน้ำ ที่ผสมน้ำและเฟอร์รัสซัลเฟต เป็นเวลา 30 นาที
- นำผ้าที่ต้องการใช้พิมพ์มาซักทำความสะอาด เพื่อกำจัดแป้งและสิ่งสกปรก
- เตรียมสารละลายสารส้มในปริมาณที่ควบคุมและปลอดภัย หมักผ้าในน้าสารส้ม 30 นาที จากนั้นนำไปตากให้แห้ง และนำผ้ามาเข้าสู่ขั้นตอนการพิมพ์ลาย
- การเตรียมผ้าฝ้ายในการพิมพ์ผ้าฝ้ายสีขาวขนาด 50 x 50 เซนติเมตรจำนวน 2 ชิ้น ทำการวางลวดลายบนผ้าฝ้ายให้สวยงาม
- นำแผ่นพลาสติกใสวางทับใบไม้เพื่อไม่ให้สีของใบไม้กระจายสู่ผ้าจุดอื่น และนำสายซิลิโคลนมาม้วนผ้าให้แน่นเพื่อให้ผ้ากับใบไม้ติดกันมากที่สุด
- นำเชือกมามัดให้แน่น นำไปนึ่งที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส เวลา 120 นาที เพื่อให้ได้ลวดลายผ้าที่ชัดเจน
- นำผ้าฝ้ายออกจากหม้อนึ่ง โดยผ้าฝ้ายที่นำออกจากหม้อนึ่งแล้ว นำไปล้างด้วยน้ำสะอาดล้างจนกว่าสีไม่หลุด และตากให้แห้งสนิทแล้วรีดให้เรียบ ทำให้ได้ผ้าฝ้ายพิมพ์สีธรรมชาติจากใบไม้ตามลวดลาย
ผลิตภัณฑ์เซรั่มผสมสารสกัดเกสรบัวหลวง
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดูแลผิวหน้าสารสกัดเกสรบัวหลวง (Stamen Lotus Cosmatics) เป็นองค์ความรู้ทางด้านสมุนไพรไทย ปลอดภัยต่อผู้บริโภค บัวเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดปทุมธานี การนำส่วนต่างๆ ของบัวมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเกสรบัว เป็นเครื่องยาในตำรับยาโบราณสำหรับผู้สูงอายุ เกสรบัวหลวงจะมีสารสีเหลืองออกส้ม โดยสีของเกสรบัวหลวงเกิดจากกระบวนการชีวสังเคราะห์ของพืช โดยมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด บำรุงหัวใจ ลดอาการวิงเวียนศีรษะ และต้านอนุมูลอิสระ
การสกัดสารจากเกสรบัวหลวง โดยสรรพคุณสารสกัดเกสรบัวหลวง ( Stamen Lotus Extract ) สามารถต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ผิว และยังปรับสภาพผิว ลดเลือนริ้วรอย เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเชลล์ผิวที่มีประสิทธิภาพสูง เหมาะกับผิวที่แห้งขาดความชุ่มชื้นจากสิ่งแวดล้อม และวัยที่เปลี่ยนไป
คุณสมบัติของเซรั่มเกสรบัวหลวง ใช้บำรุงผิว มีคุณสมบัติช่วยฟื้นฟูและปรับสภาพเซลล์ผิว ช่วยกระชับรูขุมขน
ขั้นตอนการเตรียมผลิตภัณฑ์เซรั่มเกสรบัวหลวง
- นำส่วนผสม Phase A โรย Guar Hydroxypropyltrimanium Chloride ลงในน้ำ ผสมให้เข้ากัน ปรับค่าความเป็นกรดด่าง ด้วยกรดมะนาว ให้มีค่าอยู่ระหว่าง5 ถึง 4.5
- เติม Aloe barbadensis (Aloe vera) leaf extract / Sodium hyaluronate / Sodium gluconate ผสมให้เข้ากันกับข้อที่ 1
- นำส่วนผสม Phase B ละลาย Niacinamide ลงใน Distilled Water (aqua) และเติม Lotus extract / Phenoxyethanol ผสมให้เข้ากัน
- นำส่วนผสม Phase B เติมลงใน Phase A ผสมให้เข้ากัน
- นำเซรั่มเกสรบัวหลวงบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์
การถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากพืชและวัตถุดิบท้องถิ่นที่สำคัญ
การถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากพืชและวัตถุดิบท้องถิ่นที่สำคัญ เรื่อง โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จาก “บัวราชินีไม้น้ำ” ภายใต้กรอบการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองตามแนวทางพระราชดำริ และหนุนเสริมการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์การพัฒนามหาวิทยาลัยฯ จากการถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้ประโยชน์จาก “บัว” ได้แก่ 1) สาธิตการขายพันธุ์บัวโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเมล็ดบัว 2) ผลิตภัณฑ์ “Eco print” กระบวนการพิมพ์สร้างลวดลายจากวัสดุธรรมชาติ และ 3) ผลิตภัณฑ์เซรั่มผสมสารสกัดเกสรบัวหลวง ให้กลุ่มชุมชน นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจ เพื่อตอบสนองการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีศักยภาพได้อย่างยั่งยืน เอื้อกับวิถีชีวิตมีความเหมาะสมกับบริบทของชุมชน อันจะเป็นการเสริมสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับชุมชน โดยทีมงานจากสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับทีมวิทยากรจากพิพิธภัณฑ์บัว / สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต
การขยายพันธุ์บัวโดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
ผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ของสีจากดอกบัวที่ได้จากธรรมชาติ
เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผ้าพิมพ์สีจากธรรมชาติ
การแปรรูปสารสกัดจากดอกบัวเป็นผลิตภัณฑ์เซรั่มบัวสำหรับการบำรุงผิวพรรณ