
พิพิธภัณฑ์บัวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
15/09/2014การพัฒนาสีจากบัวประดับบางสายพันธุ์ สำหรับการวาดภาพบนกระดาษ
Development of pigment from some Nymphaea species for paper painting
คณะผู้ดำเนินโครงการ
นางเยาวมาลย์ น้อยใหม่ 1
ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัตนฤทธิ์ จันทรรังสี 2
นายอิศราพงษ์ แคนทอง 1
- พิพิธภัณฑ์บัว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ประจำปี พ.ศ. 2561
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
บัวประดับหรืออุบลชาติจัดเป็นกลุ่มบัวสายหรือบัวก้านอ่อน มักเรียกว่าบัวผัน บัวเผื่อน ซึ่งเป็นบัวพื้นเมืองที่มีอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำในธรรมชาติรูปทรงดอกเป็นรูปไข่จนถึงกลม ดอกมีหลายกลีบส่วนใหญ่มีกลิ่นหอม สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือแยกหน่อปัจจุบันเกษตรกรมีการผสมข้ามสายพันธุ์ (Interspecific hybridization) หรือปรับปรุงพันธุ์ให้มีความสวยงามเพื่อเพิ่มมูลค่าของบัวประดับพืชที่มีคุณสมบัติให้สารสี สามารถนำมาใช้ในการปรุงแต่งอาหารทำให้น่ารับประทาน สีธรรมชาติจากพืชมีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคหาง่ายใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ราคาถูก มีสีอ่อนนุ่มนวล สบายตา ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมช่วยลดปริมาณการนำเข้าสีสังเคราะห์จากต่างประเทศ สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ต้นไม้และสิ่งแวดล้อม การใช้ประโยชน์ด้านสีจากบัวยังมีการศึกษาน้อยมาก และยังไม่มีรายงานการศึกษาการนำสีจากบัวมาใช้ในงานด้านศิลปกรรม การศึกษาครั้งนี้จึงได้เล็งเห็นศักยภาพของบัวไทย ในการนำมาเป็นต้นแบบการผลิตสี ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการวาดภาพบนกระดาษ เพื่อพัฒนาให้เกิดศักยภาพสูงสุดของการใช้ประโยชน์จากบัวประดับ หากมีการศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็น่าจะเป็นการเพิ่มมูลค่ามหาศาลในเชิงพาณิชย์
เป้าหมาย
องค์ความรู้ใหม่ของการใช้ประโยชน์ด้านสีจากบัวประดับของไทยนักศึกษาศิลปะ อาจารย์สอนศิลปะ และศิลปิน มีสีจากบัวประดับสำหรับทางเลือกสามารถนำไปวาดภาพ และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
วัตถุประสงค์
- เพื่อสนองพระราชดำริตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ (อพ.สธ.)
- เพื่อพัฒนาสีจากบัวให้ได้สีวัตถุธาตุทางศิลปะ
- แปรรูปบัวประดับให้เป็นผงสี
- เพื่อพัฒนาสีสำหรับวาดภาพบนกระดาษ
บัวประดับที่ศึกษาวิจัย
การเตรียมตัวอย่างบัว
- เก็บตัวอย่างดอกบัวที่มีความสมบูรณ์ ไม่มีลักษณะอาการของโรค นำตัวอย่างมาล้างให้สะอาด
- เตรียมตัวอย่าง โดยเด็ดกลีบดอก สำหรับเหง้าหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตัวอย่างสดปั่นละเอียดด้วยเครื่องปั่นผลไม้ ตัวอย่างแห้งตากที่อุณหภูมิห้อง หรือ อบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 16 ชั่วโมง
การสกัดรงวัตถุจากบัวประดับ
- ชั่งตัวอย่างน้ำหนัก 100 กรัมสำหรับตัวอย่างสด และ 50 กรัม สำหรับตัวอย่างแห้ง ใส่ในบีกเกอร์ขนาด 500 มิลลิลิตร เติมน้ำหรือตัวทำละลายประมาณ 200 มิลลิลิตร
- สกัดด้วยวิธีร้อนและเย็น วิธีร้อนโดยการต้มในน้ำเดือดนาน 30 นาที วิธีเย็นโดยการแช่สกัดด้วยตัวทำละลาย เอทานอล ความเข้มข้น 60 เปอร์เซ็นต์
สารละลายกรดไฮโดรคลอริกความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ ในเอทานอล ความเข้มข้น 60 เปอร์เซ็นต์ และสารละลาย โซเดียมไฮดรอกไซด์ ความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ ในเอทานอลความเข้มข้น60 เปอร์เซ็นต์ คนให้เข้ากันเป็นระยะๆ แช่ในตัวทำละลายแต่ละชนิดนาน 48 ชั่วโมง (ตัวอย่างสดปั่นละเอียดส่วนตัวอย่างแห้งไม่ต้องปั่น) - กรองแยกกากออกจากสารสกัดแล้ววัดค่า pH ของสารสกัดที่ได้นำสารสกัดที่ได้
- ไประเหยตัวทำละลายให้ได้สารสกัดเข้มข้นโดยเครื่องระเหยแบบสุญญากาศ (Rotary Evaporator) ที่สภาวะอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส
วิธีการสกัด
ผลการสกัดแบบร้อน (การต้ม) ต้มในน้ำเดือนนาน 30 นาที
การใช้ความร้อนในการสกัดสารให้สีในพืชออกมาปริมาณความเข้มข้นของสี ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนและเวลาของการสกัด วิธีการต้มในน้ำ สีของสารกัดที่ได้ใกล้เคียงกับสีจริงของตัวอย่างบัว คือดอกบัวสายสีแดงได้สารสกัดสีชมพูแดง ดอกบัวฉลองขวัญได้สารสกัดสีม่วง ส่วนเหง้าบัวฉลองขวัญ ได้สารสกัดสีเหลือง โดยตัวอย่างแห้งจะมีสีเข้มกว่าตัวอย่างสด ทั้งนี้เนื่องจากตัวอย่างแห้งมีปริมาณความชื้นน้อยกว่าตัวอย่างสด ทำให้สามารถสกัดรงวัตถุได้มากกว่า ในการเลือกวิธีการสกัดสีจากพืช ควรคำนึงถึงวิธีการที่เหมาะสมของพืชแต่ละชนิด และอัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างตัวทำละลายต่อวัตถุดิบ
ผลการสกัดแบบเย็น (แช่ในตัวทำละลาย)
วิธีแช่ในตัวทำละลาย พบว่าจากการแช่ในตัวทำละลายเอทานอลที่มีสภาวะความเป็นกรด (pH 1-4) และความเป็นด่าง (pH 8-11) ที่อุณหภูมิห้อง (27-35องศาเซลเซียส) เป็นเวลา 48 ชั่วโมง สารสกัดที่ได้มีสีแตกต่างไปจากสีจริงเนื่องจากอิทธิพลของ pH ในตัวกลางนั้นๆ เมื่ออยู่ในสภาพที่เป็นกรด ด่างต่างกัน
สกัดด้วยเอทานอล สามารถละลายสารสีออกมาได้มากว่าการสกัดด้วยน้ำกลั่น ให้สารสีได้มากขึ้น ใช้ทำละลายเอนไซม์ในพืช มีความไวในการละลายมากกว่าน้ำ และยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ สารสกัดที่ได้มีสีสดและใสกว่าการสกัดด้วยน้ำ ลักษณะไม่ขุ่นและไม่ตกตะกอน เก็บไว้ได้นานที่อุณหภูมิปกติ แต่ต้องปิดฝาให้มิดชิดเพื่อป้องกันการระเหยของแอลกอฮอล์
การแปรรูปผงสีจากบัวประดับ
- การแปรรูปผงสีจากบัวประดับ เตรียมสารดูดซับ 3 ชนิด ได้แก่ ดินสอพอง ซิลิกาเจล และ ดินเบนโทไนท์ ที่อบแห้งแล้วน้ำหนัก 20 กรัม แล้วเติมสารสกัดลงบนสารดูดซับ โดยเติมทีละน้อยผสมให้เข้ากัน
- นำบีกเกอร์ที่บรรจุสารสกัดบนสารดูดซับ อบที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เพื่อไล่ความชื้นออกเป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง หรือจนกระทั่งผงสีแห้ง
- การทำผงสีให้บริสุทธิ์ โดยนำผงสีที่อยู่บนตัวสารดูดซับละลายด้วยน้ำหรือเอทานอลเล็กน้อย ตั้งทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง แล้วระเหยสารละลาย จะทำให้ผงสีละเอียดขึ้น นำผงสีที่ได้ไปบดให้ละเอียด
ผลการแปรรูปผงสีจากบัวประดับ
- โดยวิธีอบให้แห้งด้วยสารดูดซับที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียลระยะเวลา 4-6 ชั่วโมง แล้วบดเป็นผงละเอียด เพื่อให้สามารถเก็บไว้ได้นานและนำไปใช้ได้อย่างสะดวก เนื่องจากสารสกัดที่ได้ถ้านำไประเหยแห้ง ไม่สามารถทำให้แห้งสนิทได้ จึงต้องใช้ตัวกลาง เป็นสารดูดซับสีจากสารสกัด ได้แก่ ดินสอพอง ซิลิกาเจล และดินเบนโทไนท์ เนื่องจากคุณสมบัติที่มีพื้นที่ผิวมากจึงทำให้สามารถอุ้มสารให้สีไว้ได้มาก เมื่อนำไปทำให้แห้งจะได้สีที่เคลือบบนตัวดูดซับ และ เมื่อบดให้เป็นผง จะได้ผงสีที่มีความสดใสตามชนิดของตัวดูดซับ
- พบร้อยละการดูดซับสูงสุดในดินสอพอง และซิลิกาเจลเท่ากับ 55.40 และ 48.38 ตามลำดับ
ลักษณะผงสีที่ได้จากสารดูดซับ 3 ชนิด ได้แก่
การทดสอบคุณลักษณะสี
โดยนักศึกษาจิตกรรม อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทัศนศิลป์ และศิลปินจำนวน 30 คน ประเมินความพึงพอใจต่อการวาดภาพด้วยสีจากบัวประดับด้านความโปร่งใสของสี กึ่งทึบแสงของสี ทึบแสงของสีระดับค่าของสีและคุณภาพโดยรวมของสี
ผลการประเมินความพึงพอใจต่อการวาดภาพด้วยสีจากบัวประดับพบว่าคะแนนความพึงพอใจด้านความกึ่งทึบแสงของสี มีมากที่สุดร้อยละ 76.6 รองลงมา คือความทึบแสงของสี และความโปร่งใสของสีมีคะแนนความพึงพอใจร้อยละ 75.33 และ 72.00 ตามลำดับ ส่วนระดับค่าของสีมีคะแนนความพึงพอใจน้อยที่สุดร้อยละ 70.00 คุณภาพโดยรวมของสีมีคะแนนความพึงพอใจร้อยละ 74.67